ขึ้นเครื่องบิน หูอื้อแก้ได้
ช่วงนี้หลายๆประเทศเริ่มเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางกันแล้ว หลังจากอัดอั้นด้วยสถานการ์ณโรคระบาดมานาน และเวลาที่เราต้องเดินทางไกล แน่นอนว่า หลายๆคนเลือกที่จะโดยสารทางเครื่องบิน โดยเฉพาะการเดินทางไปต่างประเทศในระยะเวลานานๆ สิ่งที่มักเป็นปัญหากวนใจของเรา คือ อาการหูอื้อ เวลาที่เครื่องบินไต่ระดับสู่ความสูงขึ้นสู่ท้องฟ้า และเมื่อเครื่องบินลงสู่พื้นดิน
อาการ หูอื้อ…ตอนขึ้นเครื่องบิน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความดันในระยะเวลารวดเร็ว ภายในใบหู และ ภายนอกใบหู ไม่เท่ากัน บางคนรุนแรงถึงขั้นปวดหูเลยก็ได้ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆอีก เช่น การได้ยินเสียงเบาลง รู้สึกแน่นๆในหู โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หรือ ไซนัสอักเสบ จะมีอาการได้ง่ายกว่า รวมถึงผู้ที่มีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะมีโอกาสหูอื้อได้ง่ายกว่าด้วย เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเดินทางโดยเครื่องบิน เราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทรมาณจากการปวดหู
ขึ้นเครื่องบิน หูอื้อแก้ได้ สุขภาพดีดี.com มีวิธีมาฝากค่ะ
- กลืนน้ำลาย การกลืนน้ำลายเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด เพราะไม่ต้องเตรียมอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องเสียเงินให้สิ้นเปลือง การกลืนน้ำลาย จะทำให้ท่อความดันภายในหู ปรับความดันให้เท่ากับภายนอกหู ทำให้อาการหูอื้อหายไป
- เคี้ยวหมากฝรั่ง กลไกการทำงานของการเคี้ยวหมากฝรั่ง จะเป็นการกระตุ้น ท่อความดันในหู ให้ค่อยๆปรับความดันไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เราไม่มีอาการหูอื้อ
- หาว เชื่อมั้ยว่า แค่เรา หาววว ก็จะสามารถช่วยลดอาการหูอื้อได้เช่นกัน
- บีบจมูก หุบปากให้สนิท แล้วเป่าลม เบาๆ อย่าเป่าแรง เพราะจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ จะเป็นการดันลมให้เข้าไปในส่วนหูชั้นกลาง ซึ่งวิธีนี้นักดำน้ำก็จะใช้ในการดำน้ำเช่นเดียวกัน เพื่อให้ไม่มีอาการหูอื้อระหว่างดำน้ำ วิธีนี้ทำได้เรื่อยๆ จนกว่าเครื่องจะลงได้เลย
4 วิธีง่ายๆที่ใช้ได้จริง ระหว่างโดยสารเครื่องบิน แค่นี้ ปัญหาหูอื้อก็จะไม่มาสร้างความหงุดหงิดใจแล้วละค่ะ และถึงแม้ว่า หลายๆประเทศจะไม่ใส่หน้ากากอนามัยแล้ว เราก็อย่าพึ่งประมาทโดยเฉพาะในประเทศที่ยังมีการระบาดของโควิดอยู่ ยังคงต้องยกการ์ดให้สูงไว้ เพื่อป้องกันสุขภาพของเรา
หมายเหตุ สำหรับผู้ที่มีโรคภูมิแพ้ หรือ ไซนัสอักเสบ เป็นโรคประจำตัว อาจจะต้องมีการทานยาเพื่อป้องกันการเกิดอาการระหว่างทาง หรือ ถ้าภายใน 2 ชั่วโมงเเล้ว อาการหูอื้อยังไม่หายไป ควรที่จะพ่นยาเพื่อให้ระบบทางเดินหายใจทำงานได้ดีขึ้น เเละถ้าอาการยังไม่หายไปใน 2-3 วัน ควรรีบไปพบเเพทย์ทันที
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย