วัยทำงาน มีภาวะอ้วน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วัยทำงานส่วนใหญ่ใช้เวลาในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หากไม่มีการดูแลสุขภาพของตนเองที่เหมาะสม จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ และทำให้หนุ่มๆสาวๆ วัยทำงาน มีภาวะอ้วน ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งอ้างอิงจากการสำรวจประชาชนไทย โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบว่า คนวัยทำงาน ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีดัชนีมวลกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติเพียง ร้อยละ 36.43 มีภาวะอ้วน ร้อยละ 37.5 พบโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 24.7 โรคเบาหวาน ร้อยละ 8.9 ภาวะไขมันในเลือดสูง ร้อยละ16.4
และจากการสำรวจระดับกิจกรรมทางกายในประชากรไทย โดยศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย ในปี 2563 พบว่า ประชาชนวัยทำงาน อายุ 18-59 ปี มีกิจกรรมทางกายเพียงพอลดลง เหลือร้อยละ 54.7 จากปี 2562 ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 74.6
และข้อมูลจากการสำรวจด้านโภชนาการ ปี 2564 พบว่า คนไทยอายุ 18-59 ปี เป็นคนอ้วนระดับ 1 คือมีค่า BMI 25-29.9 ร้อยละ 20.31 และอ้วนระดับ 2 คือมีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 ร้อยละ 6.22 ผู้ที่เป็นโรคอ้วนจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเสี่ยงเสียชีวิตเมื่อป่วยเป็นโรคโควิด-19
แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่เข้าข่ายภาวะอ้วนลงพุงสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ ด้วยการกินอาหารให้เหมาะสม และเพิ่มกิจกรรมทางกายในระหว่างวันให้มากขึ้น โดยให้ยึดหลักดังนี้
- กินอาหารให้เพียงพอสำหรับตนเอง ไม่กินมากเกิน ไม่กินน้อยเกิน
- กินอาหารหวานน้อย มันน้อย เค็มน้อย โดยใน 1 วัน กินน้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา เติมน้ำปลาหรือซีอิ๊ว ซอสปรุงรสในการปรุงอาหารรวมกัน ไม่เกินวันละ 4 ช้อนชา
- ชิมอาหารก่อนปรุง ปรุงให้น้อยที่สุด หรือไม่ปรุงเพิ่มเลยยิ่งดี
- หากทำอาหารกินเอง แนะนำให้ใช้สมุนไพรไทย เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอม กระเทียม หรือเครื่องเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติอาหารแทนการเติมน้ำปลา น้ำตาล
- กินผักต้ม ผักลวก ผักยำ ผักสด หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารใส่กะทิ เช่น เนื้อสัตว์ทอด เนื้อสัตว์ติดมัน หนังไก่ แกงกะทิ สลัดน้ำข้น เป็นต้น
- กินอาหารสด แทนอาหารแปรรูป (ตัวอย่างอาหารแปรรูป : ผักดอง ผักกระป๋อง ผลไม้ดอง ผลไม้ ตากแห้ง ไส้กรอก ไส้อั่วกุนเชียง หมูยอ เป็นต้น)
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มรสหวานต่าง ๆ เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชานมไข่มุก กาแฟเย็น เครื่องดื่มสำเร็จรูป เป็นต้น ควรดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด วันละ 1.5–2 ลิตร
- หลีกเลี่ยงการกินบะหมี่ โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารกล่องแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปจากโรงงานอุตสาหกรรม เพราะมีการใส่ผงปรุงรส ผงชูรส ผงปรุงรส น้ำตาล ไขมัน เกลือโซเดียม เพื่อถนอมอาหาร
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอวันละ 7–9 ชั่วโมง
สุขภาพดีดี.com มีความประสงค์อยากให้ทุกท่านมีสุขภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรง และมีความสุขกับการใช้ชีวิต โดยสามารถเริ่มทำได้ง่ายๆด้วยตัวเราโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นะคะ
ที่มาข้อมูล : www.sanook.com/