อันตรายของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล

อันตรายของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล

 

            เนื่องจากในปัจจุบันคนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยการลดการรับประทานอาหาร ทอด มัน และหวาน และหาทางเลือกที่จะใช้สารทดแทนเพื่อให้อันตรายกับสุขภาพร่างกายน้อยลง ซึ่งการควบคุมการบริโภคอาหารที่มีรสชาติหวานยังคงเป็นเรื่องยากถ้าจะให้รับประทานแต่อาหารจืด ๆ ไม่มีรสหวานเลย ในปัจจุบันได้มีการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลหรือในที่นี้หมายถึงน้ำตาลซูโครส (sucrose) โดยต่างก็ใช้คำที่ว่า ให้พลังงาน 0 กิโลแคลอรี เพื่อให้ผู้ใช้ได้มั่นใจว่าสามารถใช้แล้วลดน้ำตาลในเลือด หรือทำให้ไม่อ้วนได้อย่างสบายใจ แต่อย่างไรก็ตามสารให้ความหวานแทนน้ำตาลก็มีอันตรายอยู่บ้าง โดย สุขภาพดีดี.com รวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับ อันตรายของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล มาให้ทุกท่านแล้วค่ะ

            สารทดแทนน้ำตาลเหล่านี้ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย และนิยมใช้ในการประกอบอาหารและเครื่องดื่มสำหรับควบคุมน้ำหนัก และมีคำถามมากมายเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำตาลหรือควบคุมน้ำหนักได้จริงหรือไม่ โดยเบื้องต้นมาทำความรู้จักกับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลกันก่อน สารให้ความหวานแทนน้ำตาลถูกจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามพระราชบัญญัติอาหาร ปี พ.ศ. 2552  สารให้ความหวานแทนน้ำตาลสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทได้แก่ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ให้พลังงาน และไม่ให้พลังงาน

 

  • สารให้ความหวานแทนน้ำตาลชนิดที่ให้พลังงาน ได้แก่ ฟรุกโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลจากผลไม้ มอลทิทอล ซอร์บิทอล และไซลิทอล สารให้ความหวานกลุ่มนี้ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และผู้ป่วยโรคเบาหวาน

  • สารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงาน หรือให้พลังงานต่ำ ได้แก่ ซูคราโลส สตีเวีย ซึ่งเป็นสารสกัดจากหญ้าหวาน แอสพาร์แตม อะซิซัลเฟม-เค แซคคารีนหรือที่เรียกว่าขัณฑสกร สารให้ความหวานกลุ่มนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และผู้ป่วยโรคเบาหวาน

            หากพิจารณาในท้องตลาดในปัจจุบันจะพบว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้เป็นหลักคือ แอสพาร์แตม (Aspartame) เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีสารให้ความหวานตัวอื่นอีกหลายชนิดที่ใช้ได้ ในบทความนี้จะขอกล่าวถึง 4 ชนิดที่นิยมใช้กัน เพื่อประกอบการพิจารณาในการเลือกใช้หรือเลือกบริโภคให้ปลอดภัย ได้แก่

 

สารแซคคารีน (Saccharin)


แซคคารีนหรือที่รู้จักกันในชื่อขัณฑสกร สารตัวนี้มีรสชาติหวานแต่ให้พลังงานต่ำมาก ร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งมีข้อเสียคือ หากใช้ในปริมาณที่มากจะมีรสขม จึงไม่ได้รับความนิยมมากนัก ที่สำคัญในปี ค.ศ. 1977 มีรายงานการวิจัยว่าการรับประทานแซคคารีนในจำนวนมากอาจจะมีผลทำให้เกิดมะเร็งบางชนิดได้ในสัตว์ทดลอง เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งผิวหนังและอวัยวะอื่น ๆ 

 

            ซึ่งมีคำเตือนอยู่บนฉลากอาหาร ให้ผู้บริโภคได้ทราบว่าสารตัวนี้หากรับประทานมากเกินไปจะทำให้ส่งผลเสียกับร่างกายมากกว่าผลดี หากใครไม่ใส่ใจอาหารก็คงไม่รู้ว่าสารแซคคารีนนั้นอาจสะสมและทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้ ถ้าหากใช้ในปริมาณน้อย ๆ ไม่เป็นอะไร แต่

 

            ถ้าหากรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ๆ ในปริมาณสูง คือวันหนึ่งประมาณ 6 ครั้ง หรือดื่มเครื่องดื่มที่ใช้แซคคารีนเป็นสารทดแทนความหวานวันละ 2 กระป๋อง ก็อาจจะมีผลเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้

 

สารแอสพาร์แตม (Aspartame)


            แอสพาร์แตมเป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 180-200 เท่า มีรสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาลทรายมากที่สุด ซึ่งมีความนิยมมากในประเทศไทย เนื่องจากมีความใกล้เคียงกับน้ำตาลมากที่สุด และยับยั้งเกิดภาวะฟันผุและไม่กระตุ้นน้ำตาลในเลือดสูง จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในเครื่องดื่มน้ำอัดลมและคนไข้ที่เป็นโรคเบาหวาน 

 

            คณะกรรมการอาหารและยาในสหรัฐอเมริกาได้ยอมรับสารแอสพาร์แตมเมื่อปี ค.ศ. 1980 และในปี ค.ศ. 1983 ก็ยอมให้ใช้แอสพาร์แตมผสมในเครื่องดื่มน้ำอัดลม ซึ่งในปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์อาหารและยาที่มีแอสพาร์แตมเป็นส่วนประกอบมากถึงกว่า 6,000 ชนิดทั่วโลก

            ถ้าหากรับประทานแอสพาร์แตมในระหว่างที่ตั้งครรภ์ต่อเนื่องกันนาน ๆ นอกจากนี้ยังมีอาการมึนงง ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ชักกระตุก ความจำเสื่อม หรือวิงเวียนเหมือนบ้านหมุน รวมไปถึงอาการปวดเมื่อยตามข้อ มือสั่นหรือเป็นเหน็บชา หิวน้ำเก่งและประจำเดือนผิดปกติได้

 

            ข้อเสียของแอสพาร์แตมคือ สลายตัวในอุณหภูมิที่สูง จึงมักเห็นคำแนะนำไม่ให้ใช้ในอาหารขณะที่กำลังปรุงบนเตา เพราะอุณหภูมิสูงทำให้แอสพาร์แตมสลายตัว รสชาติของอาหารก็จะเปลี่ยนไปจากที่ปรุงตอนแรก 

 

            บนฉลากของสารให้ความหวานแทนน้ำตาลทุกยี่ห้อจะมีข้อความระบุว่าห้ามใช้ในสภาวะฟินิลคีโตนูเรียซึ่งเป็นความผิดปกติของร่ายกายเป็นโรคทางพันธุกรรมจากการบกพร่องของยีนที่ช่วยผลิตเอนไซม์ที่จำเป็นต่อการทำลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน แม้เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างน้อย แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้มีระดับฟีนิลอะลานีนสะสมในร่างกายมากขึ้นจนส่งผลต่อระบบประสาทและสมอง ก่อให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญา หรืออาจเกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา เช่น อาการชัก ปัญหาทางจิตเวช ปัญหาทางพฤติกรรม พัฒนาการล่าช้า เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถรู้ได้ว่าผลิตภัณฑ์นี้มีสารนี้อยู่ให้หลีกเลี่ยงการใช้
 

สตีเวีย (Stevia) 

 

            เป็นสารธรรมชาติที่ให้ความหวานทดแทนน้ำตาลได้อย่างดีและปลอดภัย ซึ่งให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 200 เท่า และมีพลังงานน้อยมาก สตีเวียเป็นพืชธรรมชาติซึ่งใช้ในหลายประเทศ อย่างในอเมริกาใต้ ทั้งในบราซิลและปารากวัย จริง ๆ แล้วในเมืองไทยเราก็รู้จักกันดีในนามของหญ้าหวาน จะว่าไปแล้วหญ้าหวานถูกใช้เป็นสมุนไพรมาตั้งเกือบ 500 ปีแล้ว แต่เพิ่งจะมีการศึกษาวิจัยกันอย่างจริงจังเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1899 และเอามาใช้เป็นสารทดแทนความหวานกันเมื่อปี ค.ศ. 1964 ข้อดีของสตีเวียก็คือ สามารถทนกรดและทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียสโดยไม่สลายตัว ดังนั้น นอกจากจะใช้ใส่ในเครื่องดื่มแล้ว ยังสามารถเอามาทดแทนน้ำตาลในอาหารที่ต้องผ่านการหุงต้มอีกหลายชนิด ซึ่งชนชาติญี่ปุ่นและเกาหลีก็ใช้กันมานานทั้งในการหมักเนื้อ หมักปลา หมักผักดอง เครื่องดื่ม ก็ใช้สตีเวียเป็นสารทดแทนความหวาน รวมไปถึงยาสีฟันที่ลดอาการฟันผุได้ด้วย โดยสรุปแล้วสตีเวียน่าจะเป็นสารทดแทนความหวานที่ปลอดภัยซึ่งยังไม่มีรายงานผลแทรกซ้อน

 

ไซลิทอล (Xylitol)

 

            เป็นกลุ่มของน้ำตาลแอลกอฮอล์ (sugar alcohol) ที่มีคาร์บอน 5 อะตอม ในโครงสร้าง  มักใช้ในส่วนผสมของยาที่ต้องเคี้ยว หมากฝรั่ง ยาสีฟัน และเป็นสารทดแทนความหวานที่มาแรงสำหรับคนไข้กลุ่มที่เป็นโรคเบาหวาน 

            ไซลิทอลมีอยู่ในธรรมชาติ เช่น ผลไม้พวกเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ ต้นเบิร์ช เห็ด ผักกาดแก้ว รวมไปถึงข้าวโพด และร่างกายเราก็ยังสร้างสารไซลิทอลได้ด้วยตัวเองในระหว่างการสันดาปของกลูโคส ไซลิทอลนั้นมีรูปร่างหน้าตาเหมือนน้ำตาล รสชาติใกล้เคียงน้ำตาลมากที่สุดแต่ให้พลังงานเพียงแค่ 40% ของน้ำตาลธรรมชาติ ช่วยลดจำนวนแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดฟันผุ ลดการเกิดหินปูน เป็นน้ำตาลที่เชื้อจุลินทรีย์ไม่สามารถย่อยสลายให้เกิดสภาวะกรดในช่องปากได้ จึงไม่เป็นเหตุให้เกิดฟันผุ จากผลการวิจัยพบว่าแบคทีเรียในช่องปากไม่สามารถย่อยสลายเป็นอาหารได้ จึงช่วยลดปริมาณการเกิดคราบฟัน และช่วยลดเชื้อ Streptococcus mutans ที่อาศัยอยู่ในคราบฟันลงได้ และเนื่องจากร่างกายเราดูดซึมไปใช้ได้อย่างช้า ๆ จึงไม่ทำให้เกิดภาวะฟันผุเหมือนขนมหวานที่ใช้น้ำตาลทราย


            อย่างไรก็ตาม น้ำตาลเทียมหรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเหล่านี้ ก็ได้แฝงอันตรายเอาไว้อยู่เหมือนกัน นื่องจากถ้าหากรับประทานมากเกินไปเกินกว่าที่ร่างกายจะเหมาะสม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย เนื่องจากมีสารเคมีตกค้างในร่างกายและเป็นต้นเหตุของการก่อตัวของมะเร็ง 

 

            อีกทั้งยังมีงานวิจัย กับผู้ทดลองและพบว่าการทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาลมาก แต่ร่างกายไม่ได้รับพลังงานที่แท้จริง จะทำให้มีความอยากกินอาหารชนิดอื่นที่ให้พลังงานมากกว่าเดิม  อีกทั้งยังพบว่า สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย จึงทำให้มันไปกองรวมกันอยู่ในลำไส้ใหญ่ และมีแบคทีเรียที่สามารถย่อยแอสปาแตมได้ ซึ่งจะผลิตก๊าซออกมาด้วย จึงทำให้มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ถ่ายเกินปกติ และอันตรายมากที่สุดก็คือ กรดแอสปาร์ติก ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งในน้ำตาลเทียม ก็สามารถผ่านเข้าสู่เซลล์สมองได้ และเมื่อมีปริมาณแคลเซียมในสมองมาก ๆ ก็ทำให้สมองได้รับอันตรายได้

By admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *