อันตรายของอาหารปิ้งย่าง
ในปัจจุบันนี้อาหารปิ้งย่างได้รับความนิยมมากในประเทศไทย ไม่ว่าจะไปที่ไหน ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ จะต้องมีร้านปิ้งย่างอย่างน้อย 1 ร้าน แม้กระทั่งการไปเที่ยวต่างจังหวัด บนดอยก็ยังมีเมนูปิ้งย่างให้ทุกคนได้เลือกสรรกัน เนื่องจากอาหารปิ้งย่างนั้นทำง่าย สะดวก อร่อย และสามารถรับประทานกันได้หลายคน ซึ่งจะทำให้เกิดช่วงเวลาของการใช้เวลาร่วมกัน ทำให้เกิดความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดอื่นๆ วันนี้ สุขภาพดีดี.com ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ อันตรายของอาหารปิ้งย่าง มาให้ทุกคนได้อ่านทำความเข้าใจกัน
อาหารปิ้งย่างถึงแม้ว่าจะอร่อยแต่ถ้าหากรับประทานเป็นประจำจะมีความเสี่ยงต่อการได้รับสารอันตราย 6 ชนิดด้วยกัน ทั้งการรับประทานเข้าไป และ ระหว่างการรับประทาน ได้แก่
สารไนโตรซามีน (nitrosamines) |
ซึ่งส่วนมากจะพบในอาหารย่างเป็นส่วนมาก เช่นปลาหมึกย่าง ปลาทะเลย่าง หมูย่าง และเนื้อย่าง และในเนื้อสัตว์ที่ใส่สารไนเตรท ซึ่งเป็นสารกันบูด เช่น แหนม ไส้กรอก เบคอน แฮม ที่มีสีแดงผิดปกติ ทำให้เสี่ยงเป็นสารก่อมะเร็ง เช่น มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำใส้ เป็นต้น
สารพัยโรลัยเซต (Pyrolysates) |
พบมากในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่าง สารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์สูงมาก ซึ่งสารกลุ่มนี้บางชนิดมีฤทธิ์ร้ายแรงทางพันธุกรรมมากกว่าสารอะฟลาทอกซิน 6-100 เท่า ซึ่งเป้นสารก่อมะเร็งสำคัญที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย หากหลีกเลี่ยงได้ควรจะหลีกเลี่ยงเป็นอย่างมาก
สารพีเอเอช |
สารกลุ่มโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic aromatic hydrocarbon) เป็นสารเริ่มต้นของสารกลายพันธุ์ (Premutagen) และสารเริ่มต้นของสารก่อมะเร็ง (Precarcinogen) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกันกับที่เกิดในควันไฟ และท่อไอเสียของเครื่องยนต์ ควันบุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งหากลองจินตนาการว่าเราต้องสูดดมท่อไอเสียทุกๆวัน จะเห็นภาพถึงความอันตรายของสารชนิดนี้มากขึ้น
โดยสารพิษทั้ง 3 ชนิดนี้ จะพบในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่างหรือรมควันของเนื้อสัตว์ที่มีไขมันหรือมันเปลวติดอยู่ด้วย เช่น หมูย่างติดมัน เนื้อย่างติดมัน ไก่ย่างส่วนติดมัน เนื่องจากขณะปิ้งย่าง ไขมันหรือน้ำมันจะหยดไปบนเตาไฟ ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ก่อให้เกิดสารพีเอเอช (สารชนิดเดียวกันกับควันในท่อไอเสีย) ลอยขึ้นมาพร้อมเขม่าควันเกาะที่บริเวณผิวของอาหาร โดยสารนี้จะมีมากในบริเวณที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่าง หากรับประทานเข้าไปเป็นประจำจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะ มะเร็งตับ
ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide) |
สามารถจับกับเลือดได้ดีกว่าออกซิเจนถึง 200-250 เท่า จึงได้ชื่อว่าเป็น “มลพิษไร้สีไร้กลิ่น” หรือ “ฆาตกรเงียบ” เมื่อได้รับก๊าซนี้ ในปริมาณมากจะทําให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน และจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
ฝุ่นละออง |
เนื่องจากฝุ่นละอองสามารถลอย อยู่ในชั้นบรรยากาศ จะทําให้ความเร็วของการไหลของอากาศในปอดลดลง ส่งผลให้เกิดการตกค้างของ “ฝุ่นละอองในปอด” ถ้ามีปริมาณมาก จะทําให้มีโอกาสป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ มากขึ้น เช่นโรคไซนัสอักเสบ ซึ่งจะส่งผลกับความสามารถในการหายใจในระยะยาวอีกด้วย
สารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds, VOCs) |
ทําให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง โดยมีผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ และเป็นสารที่มีความเสี่ยงในการก่อมะเร็ง
หากรู้ดังนั้นแล้ว หากสามารถลด ละ และเลี่ยงอาหารปิ้งย่างได้ ก็จะเป็นการดี เนื่องจากจะทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง และได้รับสารพิษต่างๆเข้าสู่ร่างกายได้ แต่ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สุขภาพดีดี.com ได้รวบรวมเทคนิคการลดอันตรายจากการรับประทานอาหารปิ้งย่างมาให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ โดยเทคนิคลดอันตรายจากอาหารปิ้งย่าง มีทั้งหมด 7 ข้อ ดังนี้
- เลือกร้านปิ้งย่างที่อากาศถ่ายเท – โดยเริ่มจากการศึกษารีวิวจากใน social media ก่อนว่าร้านไหนมีทำเลที่ดี มีอากาศถ่ายเทดี หรือมีตัวดูดควันที่จะทำให้ควันไม่เข้าสู่ตัวเรา โดยเลือกอาหารที่สดใหม่เป็นสำคัญด้วย
- เลือกเนื้อไม่ติดมัน – การรับประทานปิ้งย่างบ่อย อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินได้ ดังนั้น สุขภาพดีดี.com แนะนำให้รับประทานได้แต่เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีประโยชน์ เช่นเนื้อปลา เนื้อไก่ เป็นหลัก เนื่องจากมีไขมันน้อยกว่า และมีโปรตีนดีอีกด้วย
- ไม่ปิ้งจนเกรียม – เพื่อลดสารก่อมะเร็ง และคงรสชาติที่ดี แนะนำว่าอย่างปิ้งจนไหม้เกรียมจนเกินไป เนื่องจากในส่วนที่ไหม้เกรียมนั้นมีสารก่อมะเร็งเป็นจำนวนมาก หากเผลอปิ้งจนไหม้เกรียมแล้วแนะนำให้ทิ้ง อย่ารับประทาน
- รอยไหม้บนเตาปิ้งย่าง – ถ้าเห็นว่าเริ่มมีเยอะแล้ว ให้พยายามทำความสะอาด หรือเปลี่ยนเตาปิ้งย่าง เพื่อลดสารพิษนั่นเอง
- ดื่มน้ำเปล่า – การรับประทานปิ้งย่างนั้น จิ้มกับน้ำจิ้มที่มีปริมาณโซเดียมมาก ดังนั้นเราควรจะดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้นเพื่อขับโซเดียมออกจากร่างกาย และไม่ทำให้ร่างกายบวมโซเดียมอีกด้วย
- ทานผักเคียงให้มากขึ้น – การรับประทานปิ้งย่างนั้น จะเป็นการดีหากเรารับประทานผักเคียงและผักใบเขียวให้มากขึ้น จะช่วยให้เราย่อยดีขึ้นและไม่ท้องผูกอีกด้วย
- เตาไฟฟ้า – เตาไฟฟ้านอกจากจะไร้ควันที่ก่อมลพิษแล้ว ยังสามารถควบคุมระดับความร้อนได้มากกว่าการใช้เตาถ่านด้วย