แพ้ยาสลบศัลยกรรม อันตรายถึงชีวิต
แพ้ยาสลบศัลยกรรม อันตรายถึงชีวิต เรามักจะเห็นกันในข่าวตามสื่อต่าง ๆ ที่ผู้เข้ารับการเสริมจมูกหรือหัตถการอื่น ในคลินิกศัลยกรรม หรือทันตกรรมเสียชีวิตลง เนื่องจากการแพ้ยาสสบ Health Daily จะพาทุกคนมาดูว่า ยาสลบคืออะไร แล้วการแพ้ยาสลบเป็นยังไง แล้วมีการรักษาการแพ้ยาสลบอย่างไรบ้าง….
ยาสลบ คือ ยาที่ถูกใช้เพื่อทำให้ผู้ป่วยหมดสติ เอื้อประโยชน์ต่อขั้นตอนการรักษา อย่างการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องใช้เวลานาน ทำให้เกิดความเจ็บปวดมาก หรืออาจกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ โดยจะมีวิสัญญีแพทย์ซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ยาชาและการวางยาสลบ เป็นผู้วางยาสลบด้วยการฉีดยาเข้าสู่เส้นเลือด หรือให้ผู้ป่วยดมยาในรูปแบบก๊าซ ผู้ป่วยจะรู้สึกง่วงนอน และหมดสติไปในที่สุด โดยที่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกเจ็บปวดในระหว่างทำการรักษา
ก่อนวางยาสลบต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
- ช่วงสัปดาห์ก่อนทำการผ่าตัด ผู้ป่วยควรงดสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย
- หากผู้ป่วยอยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน หรือภาวะอ้วน ควรทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดน้ำหนักตัว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายด้วยเช่นกัน
- แพทย์อาจให้ผู้ป่วยงดดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารใด ๆ หลังเที่ยงคืนของคืนก่อนหน้าวันผ่าตัด เพื่อป้องกันการอาเจียนหลังการใช้ยาสลบ ซึ่งการอาเจียนอาจทำให้อาหารที่อยู่ในช่องท้องสำลักเข้าสู่ปอดจนเกิดปัญหาการหายใจได้
แพ้ยาสลบเป็นยังไงมาดูกัน
แพ้ยาสลบ (Malignant Hyperthermia) คือ ภาวะไข้สูงอย่างรุนแรง เมื่อรับการระงับความรู้สึกที่มีการใช้ยาสลบหรือยาหย่อนกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางร่างกายจากกระบวนการเมตาบอลิซึมสูง จนไม่ควบคุมแคลเซียมบริเวณกล้ามเนื้อ ภาวะนี้มักเกิดขึ้นภายในชั่วโมงแรกหลังจากได้รับยาสลบ แต่ในบางรายอาจปรากฎอาการขึ้นภายใน 12 ชั่วโมง โดยอาการอาจมีได้ดังต่อไปนี้
- อุณหภูมิร่างกายสูงอย่างรวดเร็ว โดยอาจสูงถึง 43 องศาเซลเซียส
- ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หรือกระตุกอย่างรุนแรง
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หายใจติดขัด หายใจเร็ว หรือหายใจหอบ
- มีเลือดออกผิดปกติ หรือเลือดหยุดไหลช้า
- ปัสสาวะไม่ออก หรือออกน้อย
- ปัสสาวะมีสีดำปนสีน้ำตาลเข้ม คล้ายสีโค้ก
- ความดันโลหิตต่ำ จนอาจช็อกจนเสียชีวิตได้
การป้องกันการแพ้ยาสลบ
ภาวะแพ้ยาดมสลบเป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก ทั่วโลกมีรายงานการเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ คือ 1: 100,000 ราย และในเด็ก 1 : 30,000 ราย สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนเด่น จากพ่อแม่สู่รุ่นลูกได้ มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
- รักษาตามอาการ เพื่อลดไข้และให้ผู้ป่วยหายใจสะดวก
- รักษาแบบจำเพาะโดยให้ยา Dantrolene
การป้องกันภาวะนี้เป็นไปได้อยากเพราะเกิดจากกรรมพันธุ์ อีกทั้งต้องใช้วิสัญญีแพทย์มาร่วมด้วย หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติการเจ็บป่วยด้วยภาวะ Malignant Hyperthermia หรือมีประวัติความผิดปกติระหว่างการผ่าตัดควรแจ้งแพทย์ก่อนทุกครั้ง
ที่มา : โรงพยาบาลเพชรเวช