โรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นอย่างไร?

โรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นอย่างไร?

 

               เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีกระแสจากข่าวสะท้านวงการฮอลลีวูดที่ดาราผิวสีชื่อดัง Will Smith ตบหน้าพิธีกร Chris Rock ในงานประกาศรางวัลออสการ์ 2022 เนื่องจากพิธีกรหนุ่มพูดจาล้อเลียน Jada Pinkett Smith ภรรยาของ Will Smith ที่ป่วยเป็นโรค Alopecia Areata หรือที่รู้จักกันในชื่อ โรคผมร่วงเป็นหย่อม จนทำให้เขาเกิดอารมณ์ฉุนเฉียวขึ้นมานั่นเอง

 

               วันนี้ สุขภาพดีดี.com อยากพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับ  โรคผมร่วงเป็นหย่อม คือโรคอะไร เกิดจากอะไร และรักษาได้หรือไม่  วันนี้มีคำตอบให้ทุกท่านแล้วค่ะ

 

โรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นอย่างไร?

               โรค Alopecia Areata หรือโรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการผมร่วงเป็นหย่อมอย่างเฉียบพลัน นอกจากเกิดบนศีรษะแล้วยังสามารถเกิดขึ้นกับขนบนส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ด้วย เช่น คิ้ว หนวด สาเหตุของโรค Alopecia Areata (ผมร่วงเป็นหย่อม) เกิดจากการอักเสบภายใต้หนังศีรษะ ซึ่งไม่ได้ทำลายรูขุมขนอย่างถาวร หลังจากโรคสงบลง ผมหรือเส้นขนจะสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ และสามารถแบ่งตามตำแหน่งและความรุนแรง ได้ดังนี้

 

  • Alopecia areata (AA) : มีผมร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ หรืออาจมีหย่อมขนร่วงที่คิ้ว หนวดขนบริเวณใบหน้าหรือลำตัว
  • Alopecia totalis (AT) : ผมที่ศีรษะร่วงทั้งหมด
  • Alopecia universalis (AU) : ผมที่ศีรษะ และขนที่ตัว เช่น ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ร่วงทั้งหมด

 

               โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มีผลกระทบต่อรูปลักษณ์ความสวยงามค่อนข้างมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจแก่ผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะในกลุ่ม Alopecia Universalis ซึ่งมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด และมักตอบสนองต่อการรักษาต่างๆ น้อยที่สุด
สาเหตุของ โรคผมร่วงเป็นหย่อม

               โรค Alopecia Areata เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน โดยความผิดปกตินี้อาจสร้างความเสียหายต่อรูขุมขน จนทำให้รูขุมขนมีขนาดเล็กลงและไม่สามารถผลิตเส้นผมขึ้นมาได้ จึงเกิดเป็นอาการผมร่วง ซึ่งโรคนี้เกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกช่วงวัย

               แม้สาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานผิดพลาดนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้ เช่น

  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม อย่างกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม
  • มีประวัติคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคนี้ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเบาหวานประเภทที่ 1 โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ โรคด่างขาว โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือภาวะลำไส้เป็นแผล (Ulcerative Colitis) เป็นต้น
  • การเจ็บป่วยอื่น ๆ อย่างการติดเชื้อไวรัส
  • การได้รับยาบางชนิด
  • ความเครียด

 

การรักษา โรคผมร่วงเป็นหย่อม

               ปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาโรค Alopecia Areata ได้ แต่เบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้รอผมงอกขึ้นมาใหม่เอง ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน เพราะปกติแล้วผมของผู้ป่วยจะงอกกลับขึ้นมาใหม่ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรักษา อีกทั้งโรคนี้ไม่มีอันตรายต่อร่างกายของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม มีบางวิธีที่ช่วยให้ผมที่ร่วงไปงอกกลับขึ้นมาใหม่เร็วกว่าวิธีตามธรรมชาติ ดังนี้

 

  1. การใช้สเตียรอยด์ สเตียรอยด์จะยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างความเสียหายแก่รูขุมขน และทำให้เส้นผมสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้อีกครั้ง ซึ่งการใช้สเตียรอยด์มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบฉีดซึ่งได้ผลดีในกรณีที่ผมร่วงเป็นบริเวณไม่กว้างนัก และแบบทาซึ่งเห็นผลช้า และอาจต้องใช้เวลา 3-6 เดือน โดยการใช้ยาชนิดนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  2. การใช้ยาปลูกผม
    การรักษาด้วยวิธีการนี้มีโอกาสสำเร็จน้อย โดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจึงจะเริ่มเห็นผล แต่หากใช้ยาปลูกผมมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ควรหยุดใช้ยาและใช้วิธีอื่นรักษาแทน
  3. การทำภูมิคุ้มกันบำบัด
    การทำภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นการให้สารที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ที่ผิวหนังลงบนบริเวณที่ผมร่วง เพื่อทำให้เกิดการอักเสบที่จะนำไปสู่การกระตุ้นให้ผมกลับมางอกขึ้นใหม่ได้อีกครั้ง แต่วิธีการนี้มีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดโรคผิวหนังชนิดอื่นตามมาได้
  4. วิธีการอื่น ๆ
    ผู้ป่วยอาจรับประทานอาหารเสริมจำพวกวิตามินหรือสมุนไพร รักษาโดยใช้น้ำมันหอมระเหยจากพืช หรือรับการฝังเข็ม ซึ่งอาจช่วยให้ผมงอกขึ้นมาใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาทางเลือกเหล่านี้ยังไม่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์ว่าจะช่วยรักษาอาการผมร่วงหรือทำให้อาการดีขึ้นได้ ดังนั้น หากต้องการใช้การรักษาทางเลือกใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ให้ถี่ถ้วนก่อนเสมอ

 

การป้องกัน โรคผมร่วงเป็นหย่อม

               ปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดป้องกันโรค Alopecia Areata ได้ แต่สามารถรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นและทำให้ผมงอกกลับมาใหม่ให้เร็วที่สุด โดยผู้ป่วยควรดูแลตนเองและป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นตามมา รวมทั้งคนทั่วไปก็อาจหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคนี้ เช่น

  • ผ่อนคลายความเครียด เพราะความเครียดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคได้
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีสารบำรุงเส้นผม เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และธาตุสังกะสี เป็นต้น
  • ใส่วิก สวมหมวก หรือทาครีมกันแดดบริเวณหนังศีรษะที่เกิดอาการ เพื่อป้องกันแสงแดดทำอันตรายต่อหนังศีรษะ
  • สวมแว่นกันแดดในกรณีที่โรคนี้ส่งผลให้ขนตาร่วง เพราะอาจมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ดวงตาได้เนื่องจากไม่มีขนตาคอยป้องกัน

 

By admin

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *